[x] ปิดหน้าต่างนี้
 
 

เนื้อหา : กิจกรรม กศน.อำเภอเมืองร้อยเอ็ด
หมวดหมู่ : ข่าวประชาสัมพันธ์
หัวข้อเรื่อง : มารู้จัก อาเซียน+3 และ อาเซียน+6 ก่อนเข้าสู่ประชาคมอาเซียน

พฤหัสบดี ที่ 15 เดือน พฤษภาคม พ.ศ.2557







 ความเป็นมาของอาเซียน+3

          สำหรับ "อาเซียน+3" (Asean+3 Summit) หรือ อาเซียนพลัสทรี เป็นศัพท์ที่ใช้เรียกการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนทั้งสิบประเทศ รวมกับอีก 3 ประเทศนอกอาเซียน ได้แก่ ประเทศจีน ประเทศญี่ปุ่น และประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งทั้งสามประเทศนี้อยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออก และนับเป็นประเทศที่มีบทบาทสำคัญในระดับโลกเลยทีเดียว

          ทั้งนี้ "อาเซียน+3" ยกระดับความร่วมมือขึ้นในปี พ.ศ. 2540 หลังจากหลายประเทศในเอเชียเผชิญกับวิกฤตทางเศรษฐกิจ หรือที่เรียกว่า "ต้มยำกุ้งดีซีส" ในช่วงกลางปี ครั้งนั้น ผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ ได้เข้าร่วมพบปะหารือกับผู้นำของประเทศจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนที่ประเทศมาเลเซีย เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และหาแนวทางรับมือกับภาวะตกต่ำทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น รวมถึงการกระชับความสัมพันธ์กับประเทศในเอเชียตะวันออก 

          นับแต่นั้นมา ในการประชุมสุดยอดอาเซียนที่จัดขึ้นทุกครั้ง ผู้นำของทั้ง 10 ชาติสมาชิกอาเซียนก็จะเข้าร่วมประชุมกับผู้นำของประเทศจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ด้วย โดยใช้ชื่อว่า "การประชุมสุดยอดอาเซียน+3" ซึ่งในการประชุมครั้งที่ 2 ได้มีการหารือกันถึง 2 ประเด็นหลัก คือ 

          1. ความร่วมมือในการฟื้นฟูเศรษฐกิจในภูมิภาค

          2. ความร่วมมือสู่ศตวรรษที่ 21 ในการรักษาส่งเสริมสันติภาพ และความมั่นคง ความมีเสถียรภาพและการพัฒนา 

          กรอบความร่วมมืออาเซียน+3 เริ่มเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้นภายหลังจากการออกแถลงการณ์ร่วมว่าด้วยความร่วมมือเอเชียตะวันออก (Joint Statement on East Asia Cooperation) และการจัดตั้ง East Asian Vision Group (EAVG) ในปี พ.ศ. 2542 ซึ่ง EVAG นี้ประกอบไปด้วยนักวิชาการและผู้ทรงคุณวุฒิจากประเทศอาเซียน+3 ซึ่งจะร่วมกันระดมความคิดและแสวงหาวิธีการขยายความร่วมมือในด้านต่าง ๆ ของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออก 

          ต่อมา EVAG ได้เสนอแนวความคิดในการจัดตั้งประชาคมเอเชียตะวันออก (East Asian community-EAC) รวมถึงการจัดการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (East Asia Summit-EAS) ด้วย และในการประชุมสุดยอดอาเซียน+3 ครั้งที่ 9 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ เมื่อปี พ.ศ. 2548 ผู้นำก็ได้ลงนามในปฏิญญากัวลาลัมเปอร์กำหนดให้การจัดตั้งประชาคมเอเชียตะวันออกเป็นเป้าหมายระยะยาว และให้กรอบอาเซียน+3 เป็นกลไกหลักในการนำไปสู่เป้าหมายดังกล่าวด้วย


วัตถุประสงค์ของกรอบความร่วมมืออาเซียน+3

          การรวมกลุ่มอาเซียน+3 เป็นการนำไปสู่การจัดตั้งประชาคมเอเชียตะวันออก โดยชาติสมาชิกจะร่วมมือและสนับสนุนกันในด้านต่าง ๆ รวมทั้งการสร้างเขตความร่วมมือทางความมั่นคง และการเมืองที่ไม่ใช้ความรุนแรง ทั้งนี้ ความร่วมมือต่าง ๆ จะอยู่ภายใต้กรอบความร่วมมือสำคัญ 6 ด้านที่เร่งผลักดัน คือ

          1. การร่วมกันกำหนดกฎระเบียบในภูมิภาค  

          2. การตั้งเขตการค้าเสรี      

          3. ข้อตกลงความร่วมมือทางการเงินและการคลัง 

          4. เขตความร่วมมือและมิตรภาพเพื่อหลีกเลี่ยงการสะสมอาวุธ  

          5. การคมนาคมและเครือข่ายการสื่อสาร 

          6. ด้านสิทธิมนุษยชนและพันธะกรณีต่าง ๆ  

          สำหรับกรอบความร่วมมือต่าง ๆ เหล่านี้จะเป็นกลไกสำคัญในการผลักดันให้เกิดประชาคมเอเชียตะวันออกได้อย่างแท้จริง แต่ถึงกระนั้น แต่ละประเทศก็ต้องเร่งแก้ไขปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อภูมิภาคอย่างเร่งด่วนเสียก่อน เช่น ปัญหาดินแดนทับซ้อน ที่ยังเป็นอุปสรรคในการสร้างประชาคมเอเชียตะวันออก




ความสำคัญของอาเซียน+3 ต่อประเทศไทย

          อย่างที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า ประเทศจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ถือเป็นประเทศผู้นำด้านเศรษฐกิจในทวีปเอเชีย และมีบทบาทสำคัญในเวทีโลก ดังนั้น การที่อาเซียนสามารถดึงให้ทั้ง 3 ประเทศ เข้ามาร่วมในกรอบความร่วมมือของอาเซียนได้ จึงทำให้เกิดความร่วมมือในด้านต่าง ๆ มากขึ้นอย่างแน่นอน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศสมาชิก รวมทั้งประเทศไทยที่มีการประเมินว่า ประเทศไทยจะได้รับผลประโยชน์จากความร่วมมือในกรอบของเขตการค้าเสรีอาเซียนบวก+3 (FTA Asian +3) คิดเป็นมูลค่าประมาณ 7,943 ล้านดอลลาร์เลยทีเดียว

          เชื่อได้ว่า ในอนาคต อาเซียน+3 จะเป็นการร่วมตัวที่มีบทบาทอย่างมากในการพัฒนาเศรษฐกิจระดับโลก เพราะสัดส่วนของประชากรทั้ง 13 ชาติ คิดเป็นหนึ่งในสามของประชากรโลก และมียอดเงินสำรองต่างประเทศรวมกันมากกว่ากึ่งหนึ่งของเงินสำรองโลก นอกจากนี้ หากรวมผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) เข้าด้วยกัน จะทำให้มีมูลค่าถึง 9 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณร้อยละ 16 ของจีดีพีโลกเลยทีเดียว ไม่น่าแปลกใจว่า ทำไมตอนนี้โลกกำลังจับตามองการรวมกลุ่มของชาติต่าง ๆ ในเอเชียมากเป็นพิเศษ 



อาเซียน +6 จัดตั้งขึ้นเพื่ออะไร  

            สำหรับ "อาเซียน +6" ก็คือ การรวมกลุ่มกันของ 16 ประเทศ ที่ประกอบไปด้วยกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ ได้แก่ บรูไนดารุสซาลาม, พม่า, กัมพูชา, อินโดนีเซีย, ฟิลิปปินส์, มาเลเซีย, ลาว, สิงคโปร์, ไทย และเวียดนาม รวมกับประเทศที่อยู่นอกอาเซียนอีก 6 ประเทศ คือ จีน, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, ออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์ และอินเดีย ซึ่งหากนับจำนวนประชากรในกลุ่มนี้แล้ว จะพบว่า อาเซียน +6 มีประชากรรวมกันกว่า 3 พันล้านคน หรือคิดเป็น 50% ของประชากรโลกเลยทีเดียว

            หลายคนอาจจะสงสัยว่า ทำไมอาเซียนต้องรวมกลุ่มกับอีก 6 ประเทศนอกอาเซียนด้วย คำตอบก็คือ การรวมกลุ่มอาเซียน +6 นี้ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของกลุ่มในการลงทุน การทำการค้า ฯลฯ ให้มีศักยภาพสามารถแข่งขันกับภูมิภาคอื่น ๆ เช่น สหภาพยุโรป นอกจากนี้ยังเป็นการเตรียมทำข้อตกลงการเปิดการค้าเสรี ด้วยการจัดตั้งประชาคมอาเซียนขึ้น พร้อมกับผนวกกำลังของแต่ละกลุ่มการค้าเข้าด้วยกัน เพื่อให้กลุ่มประเทศอาเซียนสามารถดำเนินเศรษฐกิจได้อย่างมั่นคงยิ่งขึ้น

 
 ความเป็นมาของ อาเซียน +6  

            ที่มาของแนวคิด "อาเซียน +6" นี้ เริ่มขึ้นครั้งแรกในระหว่างการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น (AEM-METI) และ AEM+3 (จีน ญี่ปุ่น เกาหลี) ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2549 โดยญี่ปุ่นเสนอให้กลุ่มผู้เชี่ยวชาญภาควิชาการ (Track II) ของกลุ่มประเทศ East Asia Summit (EAS ประกอบด้วยอาเซียน จีน ญี่ปุ่น เกาหลี ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอินเดีย) ทำการศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้ง Comprehensive Economic Partnership in East Asia (CEPEA) ซึ่งเป็น FTA ระหว่างประเทศอาเซียน+6 (จีน ญี่ปุ่น เกาหลี อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์)

            จากนั้น ในการประชุม East Asia Summit ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2550 ณ เมืองเชบู ประเทศฟิลิปปินส์ ที่ประชุมก็มีมติเห็นชอบให้ดำเนินการศึกษาเรื่องดังกล่าว โดยประเทศญี่ปุ่นได้จัดประชุมร่วมกันระหว่างนักวิชาการซึ่งเป็นตัวแทนของแต่ละประเทศครั้งแรกในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2550 เพื่อศึกษาถึงความเป็นไปได้ในการจัดทำความตกลงการค้าเสรีระหว่างประเทศอาเซียน+6 (CEPEA) 

            ทั้งนี้ กลุ่มนักวิชาการได้ประชุมร่วมกันทั้งหมด 6 ครั้ง ระหว่างปี พ.ศ. 2550 – พ.ศ. 2551 ก่อนจะได้ผลสรุปว่า หากมีการจัดทำความตกลงการค้าเสรีระหว่างประเทศอาเซียน+6 (CEPEA) จะทำให้เกิดความสะดวกในด้านการค้าและการลงทุน ความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจ พลังงาน สิ่งแวดล้อม เทคโนโลยีสารสนเทศ 

            เมื่อได้ข้อสรุปดังนี้ กลุ่มผู้เชี่ยวชาญจึงมีมติให้ศึกษาความเป็นไปได้เกี่ยวกับการจัดทำความตกลงการค้าเสรีระหว่างประเทศอาเซียน+6 (CEPEA) ในระยะที่ 2 โดยเน้นเรื่องความร่วมมือ (Cooperation), การอำนวยความสะดวก (Facilitation) และการเปิดเสรี (Liberalization)ที่จะช่วยสร้างความสามารถของประเทศสมาชิก เพื่อรองรับการเปิดเสรีภายใต้อาเซียน+6 (CEPEA) 

            ทั้งนี้ ในการประชุมเมื่อวันที่ 13-16 สิงหาคม พ.ศ. 2552 กลุ่มผู้เชี่ยวชาญก็ได้ข้อสรุปว่า การจัดทำความตกลงการค้าเสรีระหว่างประเทศอาเซียน+6 (CEPEA) ควรให้ความสำคัญเรื่องความร่วมมือเป็นอันดับแรก พร้อมกับเน้นพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในแต่ละประเทศ รวมทั้งการถ่ายทอดเทคโนโลยี (Transfer of Technology) และสร้างความเข้มแข็งให้วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) รวมทั้งควรพิจารณาจัดตั้งกองทุนเอเชียตะวันออก เพื่อช่วยรองรับโครงการความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้น และสร้างพื้นฐานสำหรับการพัฒนาต่อไป


 ประโยชน์ของการรวมกลุ่มอาเซียน +6  

            จากรายงานการศึกษาของกลุ่มผู้เชี่ยวชาญ เมื่อปี พ.ศ. 2551 และ พ.ศ. 2552 พบว่า การจัดทำความตกลงการค้าเสรีระหว่างประเทศอาเซียน+6 (CEPEA) จะทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ของประเทศเอเชียตะวันออกเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 2.11% หรือหากวัดเฉพาะประเทศสมาชิกอาเซียนแล้ว ค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ จะเพิ่มขึ้น 3.83% และเมื่อดูเฉพาะของประเทศไทยแล้วจะพบว่า ค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศจะเพิ่มขึ้นถึง 4.78% เลยทีเดียว ในขณะที่ประเทศ+6 มีค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ เพิ่มขึ้น 2.6%


นอกจากนี้ อาเซียน +6 จะช่วยปรับปรุงและพัฒนาโครงสร้างทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศสมาชิก ดังนี้


             1. ขยายอุปสงค์ภายในภูมิภาค (Domestic demand within the region)

             2. เพิ่มประสิทธิผลทางเศรษฐกิจในภูมิภาค โดยเน้นความชำนาญในการผลิตสินค้าของแต่ละประเทศ (Product specialization)

             3. พัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานให้มีการเชื่อมโยงกันระหว่างประเทศสมาชิก โดยเฉพาะเรื่อง Logistics ซึ่งการพัฒนาเหล่านี้จะนำไปสู่การลดช่องว่างของระดับการพัฒนาในแต่ละประเทศสมาชิก รวมถึงการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจที่แน่นเฟ้นยิ่งขึ้น
 
            นอกจากนี้ CEPEA จะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินธุรกรรมทางการค้าลง อันเนื่องมาจากกฎระเบียบที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน (Harmonized market rules) ดังจะเห็นได้ว่า หัวใจสำคัญที่ทำให้เกิดการร่วมกลุ่มกันเป็นอาเซียน +6 ก็คือ ผลประโยชน์ทางด้านความร่วมมือทางเศรษฐกิจ รวมทั้งพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เป็นหลัก ซึ่งแน่นอนว่า การรวมกลุ่มกันเช่นนี้จะช่วยให้ประเทศสมาชิกได้ประโยชน์มหาศาล อีกทั้งยังเป็นการยกระดับขีดความสามารถของแต่ละประเทศให้สูงขึ้น เพื่อแข่งขันกับภูมิภาคอื่น ๆ ได้อีกด้วย














เข้าชม : 1034


ข่าวประชาสัมพันธ์ 5 อันดับล่าสุด

      ผลงานการปฏิบัติที่เป็นเลิศ ( Best Practice ) เรื่อง การดำเนินงาน องค์กรนักศึกษา กศน. ระดับยอดเยี่ยม 2 ปี ติดต่อกัน ( ปี 2563 -2565 ) 14 / พ.ย. / 2566
      รวมข่าวประชาสัมพันธ์ ประจำปี 2566 14 / พ.ย. / 2566
      สกร.อำเภอเมืองร้อยเอ็ดรับสมัครนักศึกษาใหม่ ภาคเรียนที่ 2/2566 16 / ต.ค. / 2566
      สกร.อำเภอเมืองร้อยเอ็ด ดำเนินการสอบซ่อม ภาคเรียนที่ 1/2566 10 / ต.ค. / 2566
      ประกาศเจตนารมณ์ "สุจริต โปร่งใส สกร.อำเภอเมืองร้อยเอ็ด ใสสะอาด 2566" 8 / ส.ค. / 2566