
คลิ๊กดูแบบออนไลน์
รายงานการวิจัย เรื่อง ผลการจัดกิจกรรมเรียนรู้โดยใช้ชุดกิจกรรมเรียนรู้ด้วยตนเองด้วยเทคนิค PDCA
ผู้วิจัย นางสาวฉันทลักษณ์ ศรีผา ครูชำนาญการ
ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา
ในปี 2558 หรืออีก 4 ปีข้างหน้านี้ ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) การเปลี่ยนแปลงย่อมเกิดขึ้นในหลายๆ ด้าน อาทิ การเปิดเขตแดนการค้าเสรี การบริการ การลงทุน แรงงานระหว่างประเทศเป็นต้น รวมไปถึงด้านการศึกษาที่จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างแน่นอน สมาชิกในกลุ่มมี 10 ประเทศได้แก่ บรูไน กัมพูชา อินโดนิเซีย ลาว มาเลเซีย พม่า ไทย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และเวียดนาม ดังนั้นประเทศอาเซียนทั้ง 10 รวมทั้งไทย จำเป็นต้องเร่งเสริมสร้างสมรรถนะและความสามารถในการแข่งขันรองรับการเปิดเสรีทั้งการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ การลงทุน เงินทุนและแรงงานฝีมือ
การศึกษามีหน้าที่โดยตรงที่เกี่ยวข้องและมีบทบาทสำคัญในการให้ความรู้ที่จำเป็นในการขับเคลื่อนและเตรียมการเพื่อก้าวสู่การเป็นประชาคมอาเซียนให้ทันตามกำหนด ตามกรอบความร่วมมือของประชาคมอาเซียนทั้ง 3 เสาหลัก (Three Pillars of Asean Community) ซึ่งประกอบ ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน (ASEAN Policy Security Community: APSC) ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community: AEC) ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (ASEAN Socio-Cultural Community: ASCC)
จากความสำคัญดังกล่าวรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้ประกาศให้จัดการเรียนการสอนหลักสูตรอาเซียนศึกษา ไว้รองรับการก้าวสู่การเป็นประชาคมอาเซียนของไทยอย่างเต็มตัว ในปี 2558 ซึ่งจะทำให้ผู้เรียนเห็นความสำคัญขององค์กรเเห่งนี้ และเข้าใจความเป็น “อาเซียน” องค์กรเก่าเเก่และมีความสำคัญมากที่สุดสำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
กศน.อำเภอโพนทราย ได้ตระหนักและเห็นความสำคัญดังกล่าวจึงได้กำหนดให้มีการจัดการเรียนการสอนในรายวิชาอาเซียนซึ่งเป็นวิชาเลือกใน สาระการพัฒนาสังคม ซึ่งจากการที่ผู้วิจัยได้จัดกิจกรรมการเรียนรู้รายวิชาอาเซียน พบว่า ผู้เรียนมีความสนใจในรายวิชานี้พอสมควร แต่ไม่เข้าใจว่าทำไมต้องเรียนรู้ และเมื่อเรียนรู้ไปได้ระยะเวลาหนึ่ง ผู้เรียนตระหนักได้ว่าเป็นวิชาที่มีความสำคัญ และผู้เรียนต้องการสื่อที่แปลกใหม่ ที่เอื้อต่อการนำไปใช้ในการอ่านที่บ้านได้ พร้อมทั้งต้องการเนื้อหาที่อ่านเข้าใจง่ายกะทัดรัด และสวยงาม รวมทั้งสามารถทำงานเป็นกระบวนการกลุ่มได้ ผู้วิจัยจึงได้ไปศึกษาเอกสารและงานวิจัยเกี่ยวกับนวัตกรรมในการจัดกิจกรรมเรียนรู้ พบว่า ชุดกิจกรรมเรียนรู้ เป็นสื่อประเภทหนึ่งที่น่าสนใจและสอดคล้องกับความต้องการของผู้เรียน เนื่องจากส่งเสริมให้ผู้เรียนเรียนได้ตามความสามารถ ความสนใจ เวลา และโอกาสที่เหมาะสมของแต่ละคน และเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้เรียนแสดงความคิดเห็น ฝึกการตัดสินใจ แสวงหาความรู้ด้วยตนเอง มีความรับผิดชอบต่อตนเองและสังคม ช่วยขจัดปัญหาการขาดแคลนครู เนื่องจากต้องการความช่วยเหลือจากครูผู้สอนเพียงเล็กน้อยจะเป็นการลดภาระพร้อมกับช่วยสร้างความพร้อมและความมั่นใจให้แก่ครู (บุญเกื้อ ควรหาเวช. 2530 : 84) อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมศักยภาพการเรียนรู้ของแต่ละบุคคลให้พัฒนาการเรียนรู้ของตนเองไปได้จนสุดขีดความสามารถ โดยไม่ต้องเสียเวลารอคอยผู้อื่น อันเป็นการถูกต้องและยุติธรรมในการจัดการเรียนการสอน (วิชัย วงษ์ใหญ่. 2525 : 186) และช่วยให้ผู้เรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงขึ้น เพิ่มความสามารถด้านความคิด ความมีเหตุผล ความพร้อมในการเรียน ความคิดสร้างสรรค์ เชาวน์ปัญญาและการปรับตัวทางสังคมแก่ผู้เรียน ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยของวีวาส (Vivas. 1985 : 603) ได้ทำการวิจัยเกี่ยวกับการออกแบบพัฒนาและประเมินค่าของการรับรู้ทางความคิด โดยใช้ชุดการสอนรายบุคคลผลการวิจัยพบว่ากลุ่มตัวอย่างที่ได้รับการสอนด้วยชุดการสอนนั้นสามารถพัฒนาทักษะด้านความคิดสูงกว่าผู้เรียนที่เรียนด้วยวิธีสอนแบบปกติ ซึ่งสอดคล้องกับ สุภาพร บุญหนัก (2544 : 51) ได้ศึกษาวิจัยพัฒนาชุดการเรียนวิชาคณิตศาสตร์โดยวิธีแก้ปัญหา เพื่อส่งเสริมความสามารถในการคิดอย่างมีเหตุผลของนักเรียนผลการวิจัยพบว่าชุดการเรียนคณิตศาสตร์ช่วยให้ผู้เรียนสามารถแก้ปัญหาได้อย่างมีเหตุผล จะเห็นได้ว่าชุดการสอนรายบุคคลสามารถทำให้ผู้เรียนเรียนได้ตลอดเวลาเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ปฏิบัติกิจกรรมโดยยึดผู้เรียนเป็นสำคัญและสามารถพัฒนาผู้เรียนให้เป็นผู้ที่สามารถคิดอย่างมีเหตุผลและใช้เหตุผลในการคิดพิจารณาตัดสินใจได้
จากความสำคัญดังกล่าว ผู้วิจัยจึงสนใจที่จะสร้างชุดกิจกรรมเรียนรู้ด้วยตนเองด้วยเทคนิค PDCA เพื่อพัฒนาชุดกิจกรรมและผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียน ซึ่งผลจากการวิจัยในครั้งนี้จะเป็นแนวทางหนึ่งสำหรับครูผู้สอนในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนสาระการพัฒนาสังคม รายวิชาอาเซียน ให้เหมาะสมต่อไป
เข้าชม : 2166
|